ตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี หรือพระบรมวงศ์ ซึ่งทรงประกอบคุณงามความดีไว้แก่ชาติบ้านเมืองสิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลและถวายพระเพลิงตามลำดับเกียรติยศหรือพระอิสริยศักดิ์ พระบรมศพจะบรรจุไว้ในพระโกศทอง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มีการตกแต่งที่ประดิษฐานพระโกศและกางกั้นด้วยเศวตฉัตรตามพระอิสริยยศ จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำวันและทุกสัตตมวาร (๗ วัน) ปัณรสมวาร (๑๕ วัน) ปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) และสตมวาร (๑๐๐ วัน)
เมื่อถึงกาลอันควรคือสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุที่ท้องสนามหลวงเสร็จพร้อมที่จะถวายพระเพลิงได้ ก็อัญเชิญพระบรมศพ หรือพระศพจากพระบรมมหาราชวังไปยังท้องสนามหลวงเพื่อถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งสร้างเป็นพิเศษ ดังกล่าวแล้ว เรียกว่า ‘งานออกพระเมรุ’ ที่มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนชื่นชม และถือเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน โดยงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมศิลปากรดำเนินการจัดแสดงมหรสพตามแนวทางเมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาทิ การแสดงหนังใหญ่ โขน การแสดงหุ่นกระบอก และการแสดงละครนอกแล้ว ครั้งนี้ยังเพิ่มการบรรเลงดนตรีสากล การแสดงหุ่นละครเล็ก ซึ่งเป็นการแสดงที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์ท่าน เทิดพระเกียรติร่วมถวายความจงรักภักดี ความอาลัย
การเชิญพระบรมศพ พระศพ สู่พระโกศ การบำเพ็ญพระราชกุศล ตลอดจนการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง การเคลื่อนพระบรมศพ พระศพ จากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุที่ท้องสนามหลวง การตกแต่งพระจิตกาธาน การอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระสรีรางคารกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ล้วนมีแบบแผนกำหนดไว้เป็นแนวทางให้ปฏิบัติ
คนไทยแต่เดิมยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติทางพระพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงจักรวาล ซึ่งมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม ที่รายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา ตั้งแต่วิมานท้าวจตุโลกบาล เขาสัตตบริภัณฑ์ จึงนำคติดังกล่าวมาเป็นแนวทางประกอบพิธีถวายพระเพลิง เพื่อให้ได้ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จึงมีส่วนจำลองให้คล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ เช่น การสร้างพระเมรุมาศในสมัยโบราณนับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา จะมีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ นานาชนิด บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์อยู่ในกระบวนอิสริยยศอัญเชิญแห่พระบรมศพสู่พระเมรุมาศ
การสร้าง ‘พระเมรุมาศ’ จะมีขนาดและแบบงดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย และตามความบันดาลใจของช่างที่มีปรัชญาในการออกแบบว่าเป็นพระเมรุของกษัตริย์ นักรบ หรือฝ่ายสตรี ซึ่งจะประกอบขึ้นเป็นพระเมรุมาศและปริมณฑลโดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุว่า ได้ชื่อมาจากการปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้นๆ ลักษณะเหมือนเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า ‘พระเมรุ’ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆ ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย
แผนผังพระเมรุมาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พระเมรุมาศอยู่กลาง แวดล้อมด้วยอาคารรายรอบเป็นปริมณฑล ประดุจโบสถ์หรือวิหารซึ่งมีระเบียงล้อมรอบ คือ ทับเกษตร เป็นที่พัก ซ้างหรือสำส้าง คือมุมคดของทับเกษตร ทั้ง ๔ มุม เป็นที่พระสวดพระอภิธรรม ตรงข้ามพระเมรุมาศจะเป็นพระที่นั่งทรงธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จในการถวายพระเพลิง บริเวณองค์พระเมรุมาศจะประดับตกแต่งด้วยราชวัติฉัตรธง เสาดอกไม้พุ่ม สรรพสัตว์ตกแต่งให้ประดุจเขาพระสุเมรุราชในเรื่องไตรภูมิ กล่าวกันว่าในสมัยโบราณพระเมรุมีขนาดสูงใหญ่โอฬารมาก เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยา
ส่วนการถวายพระเพลิง หรือออกพระเมรุ ในสมัยโบราณจะทำเป็นงานใหญ่แล้วแต่กำหนด ตั้งแต่ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๙ วัน ถึง ๑๕ วัน สุดแต่สะดวก ซึ่งในปัจจุบันพระราชพิธีจะมีขอบเขต คือ
วันแรก อัญเชิญพระบรมศพออกสู่พระเมรุ ด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ
วันที่สอง ถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีเครื่องประกอบพระราชพิธีและวิธีปฏิบัติเฉลิมพระเกียรติยิ่งใหญ่
วันที่สาม สมโภชพระบรมอัฐิ
เมื่อถวายพระเพลิงแล้วจะประกอบพระราชพิธีสามหาบตามหลักพระพุทธศาสนา แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศ พระอิสริยยศ เข้าสมโภชภายในพระบรมมหาราชวัง พระบรมอัฐิ พระอัฐิ จะบรรจุในพระโกศทองคำ แล้วประดิษฐานไว้บนพระมหาปราสาท จัดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศล ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร พระสรีรางคาร จะนำไปประดิษฐานไว้ยังพุทธสถาน พระอารามหลวงตามราชประเพณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น