Assumption University

Quelle heure est-il????

++ My musiC ++

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“YOUNG PAD” พลังนร.-นักศึกษากู้ชาติ



เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่สังคมไทยไม่ได้เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่การชุมนุม 100 กว่าวันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมันได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูง และนำไปสู่การรวมตัวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในนาม Young People’s Alliance for Democracy หรือ Young P.A.D. ซึ่งมีการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับพันธมิตร


เป็นการรวมตัวที่ วสันต์ วานิชย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนพันธมิตรฯ กู้ชาติ บอกว่ามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมถึงกว่า 80 สถาบัน ซึ่งถ้าพูดในเชิงปริมาณต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ในภาวะที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีความเห็นที่แตกต่างทางความคิดค่อนข้างมากในขณะนี้


การเกิดขึ้นของกลุ่ม Young P.A.D อาจยังไม่ใช่การรวมตัวที่มีเอกภาพและเหนียวแน่นเช่นในอดีต พวกเขายังต้องผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำทางความคิดอีกมาก และยังมีคำถามมากมายที่พวกเขาจำเป็นต้องตอบและอธิบายตัวตน แต่อย่างน้อยที่สุดนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาจะได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย


‘ปริทรรศน์’ บุกเวทีมัฆวานฯ ไปพูดคุยกับ วสันต์ วานิชย์


อาจมีหลายคนที่ยังไม่ได้เข้ามาสัมผัส อยากให้ช่วยแนะนำกลุ่ม Young P.A.D. ให้ฟังหน่อย? Young P.A.D. ย่อมาจาก Young People's Alliance for Democracy แปลโดยรวมก็คือเยาวชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คำเหล่านี้มันบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวที่มีพันธกิจ มีการรณรงค์เรื่องสร้างการเมืองรูปแบบใหม่และการปกป้องความถูกต้อง โดย Young P.A.D. เองก็จะทำในบริบทของเยาวชน คือบางทีพันธมิตรฯ รุ่นใหญ่อาจไม่ได้มาทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนมากนัก Young P.A.D. จึงเข้ามาช่วยแบ่งเบาในส่วนนี้


ก่อตั้งมายังไง?

ตอนก่อตั้งกลุ่มมีเพื่อนที่ช่วยกัน 4-5 คน ซึ่งเป็นเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยอุดมการณ์คือ “ยอมเสียเงินเพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาร่างกาย แต่ยอมเสียชีวิตและร่างกายเพื่อรักษาธรรมะ” นั่นหมายความว่าเรากล้า ไม่มีความกลัวที่จะรักษาความถูกต้องไว้


เพื่อนๆ ในกลุ่ม Young P.A.D.มาจากหลายๆ สถาบัน พวกเราจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “เรามีธรรมนำหน้า” คำว่าธรรมในที่นี้ มันแปลได้สองอย่าง คือมีทั้งคำว่า ‘ธรรมะ’ และคำว่า ‘ทำ’ ธรรมะก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้าในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ส่วนคำว่าทำก็คือการลงมือทำจริง เราไม่ได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อมีไว้แอ็กอาร์ต สร้างภาพ หรือแค่ออกมาแถลงการณ์แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง


เรามาฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯ สี่เดือนแล้ว เราได้ดู ได้มาสัมผัส แต่กลับยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมของภาคเยาวชนเลย อาจจะมีกิจกรรมให้เห็นบ้าง แต่เรายังไม่เห็นว่ามันคือสิ่งที่ใช่อย่างแท้จริง นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคิดจัดตั้งกลุ่ม Young P.A.D. ขึ้นมา


คุณมีหน้าที่อะไรใน Young P.A.D.?

เป็นผู้ประสานงานในการทำกิจกรรมกับเครือข่ายเยาวชน และการเคลื่อนไหวภาคการเมืองในรูปแบบของ Young P.A.D. และจริงๆ แล้ว Young P.A.D. เป็นแค่ตัวประสานงานที่จะทำให้แกนนำแต่ละคนที่อยู่ตามบ้านออกมาเจอกันตรงกลาง แกนนำในที่นี้คือสมาชิกกว่าสองหมื่นกว่าคนที่เป็นตัวเคลื่อนไหว


มีการประสานงานกับหน่วยเยาวชนกลุ่มอื่นๆ บ้างไหม?

มีการประสานไปยังกลุ่มเยาวชนอื่นๆ บ้าง แต่เป็นเฉพาะบางกิจกรรมคือเราจะมีฝ่ายประสานงานของกลุ่มคอยทำหน้าที่ประสานให้ แต่ตัวผมเองไม่ได้เข้าไปประสานเอง ผมจะดูแลในส่วนกลางคอยประสานกับสถาบัน 80 กว่าสถาบันนั้น


ตอนนี้มีเยาวชนที่เข้าร่วมกี่สถาบันแล้ว?

ตอนนี้มีมากกว่า 80 สถาบันแล้วมาจากทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมไปถึงมีการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับเพื่อนๆ ที่อยู่เมืองนอกทั้งนักเรียนไทยและต่างชาติ อาจใช้วิธีการเสวนา คุยทางโทรศัพท์ คือเพื่อนที่อยู่เมืองนอกเขาจะไม่เข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ”เหมือนคนไทย เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่า บริบทของประเทศนี้มันไม่ได้ง่ายเหมือนประเทศคุณ ถ้าเราจะต้องมีประชาธิปไตยแบบลุ่มๆ ดอนๆ ที่ต้องมีความน้ำเน่าทุกปี เรามองว่าเราต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับประชากรในประเทศนี้เสียก่อน เพราะที่ผ่านมามันไม่ได้มีองค์ความรู้ด้านการเมืองมาก อีกทั้งพยายามผลักไสเรื่องการเมืองให้เป็นเหมือนเรื่องที่ไกลตัว ทั้งๆ ที่จริงแล้ว การเมืองมันก็เป็นเหมือนการบ้าน ดังคำพูดที่ว่า “การบ้านการเมือง” แต่คนไทยเขาไม่คิด เขามองว่ามันไม่ใช่เรื่องของฉัน ทั้งที่ความจริงมันก็เป็นเรื่องของคนทุกคน ตอนนี้เราจัดตั้งมาได้แค่สิบกว่าวัน แต่สมาชิกของเราจะสองหมื่นแล้ว เคยมีนักข่าวเข้ามาถามตอนจัดตั้งแรกๆ ว่ากลุ่มเรามีสมาชิกกี่คน เราบอกว่าอย่าถามเรื่องจำนวนเลย ให้ถามดีกว่าว่าสมาชิกของเรามีคุณภาพแค่ไหน ทุกคนมาจากต่างทิศ ต่างฐานะ แต่ทุกคนยอมมาเสี่ยงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน


มีวิธีการขับเคลื่อนอย่างไร?

เราเองเป็นเยาวชนที่โดนสื่อครอบงำมาตั้งแต่เด็ก เรามองว่ามันยากมากที่จะดึงเด็กออกมาจากห้องแอร์เย็นๆ จากร้านเกม จากโรงภาพยนตร์ จากสยามสแควร์ เพื่อออกมาตากแดด มาฟังไฮปาร์ก มานั่งทำความเข้าใจกับเรื่องการเมือง ดังนั้น กลุ่ม Young P.A.D. จะมีการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ หลายทิศทาง ทั้งในอินเทอร์เน็ต เพื่อนต่อเพื่อน ตามมหาวิทยาลัย แบบดาวกระจาย คือตอนนี้เรามีการแบ่งทัพเป็นหลายทัพมาก แต่การเคลื่อนไหวของเราทุกอย่างจะมีขั้นตอนและมีรูปธรรมอย่างชัดเจน ต้องทำให้การเคลื่อนที่มันกลายเป็นแฟชั่น ซึ่งมันคือการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องใหม่ให้เกิดขึ้น แบบเป็นแฟชั่นรักชาติ ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงทุกสิ่งจะไม่ดูซีเรียส เพราะเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเคลื่อนไหวก็คือ เราจะเคลื่อนไหวด้วยความสงบ อหิงสา เราจะไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายและทำให้คนอื่นเดือดร้อน

การเคลื่อนไหวมันมีอยู่ 2 รูปแบบคือ การเคลื่อนไหวเร็วและการเคลื่อนไหวในเขตต่างจังหวัด การเคลื่อนไหวเร็วจะอยู่ในส่วนของกรุงเทพฯ เราจะมีคนอยู่พันกว่าคนที่พร้อมจะออกมา ไม่ว่าเขาจะกินข้าวอยู่ เรียนอยู่ หรือทำธุระอะไรอยู่ก็ตาม พอถึงเวลาที่ต้องการ เขาก็จะมาพร้อมกันได้หมด ทั้งกำลังการ์ดหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ เรามีคนที่พร้อมจะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปด้วยกัน


ตั้งแต่เข้ามาทำงานตรงนี้ มีผลกระทบอะไรบ้าง?

มันก็เสี่ยงเหมือนกัน กับการที่เอาตัวเองเข้ามาอยู่ตรงนี้ บอกได้เลยว่าเมื่อเข้ามาในวงการเมืองนี้แล้ว ความดีความงามมันจะเหลือน้อยมาก


ทำไมถึงคิดอย่างนั้น?

เพราะเราเองก็เริ่มโดนโจมตีมาบ้างแล้ว ชีวิตส่วนตัวเริ่มหายไป เราเองไม่ใช่ดารา แต่เราเข้ามาทำงานช่วยชาติ ช่วยบ้านเมือง ใครที่คิดจะโจมตีตรงนี้ก็ถือว่ารังแกเด็กมากๆ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกันเลย


สื่อสารกับเยาวชนที่เป็นวัยรุ่น มีชุมชนออนไลน์ไว้แลกเปลี่ยนบ้างไหม?

ตอนนี้มี hi5 ของกลุ่มชื่อว่า http://youngpad.hi5.com และก็มีเว็บไซต์ที่กำลังจัดทำอยู่ เพื่อเป็นคอมมูนิตีไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยสำหรับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมถึงคนที่คิดต่างจากเราด้วย แต่เราต้องบอกไว้เลยว่าเราไม่เอาคนที่เป็นกลาง เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ คนเป็นกลางคือคนที่ไม่มีจุดยืน ในสังคมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ คุณจะกลายเป็นคนที่ตกขอบประวัติศาสตร์หรือตกขอบการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น คือคุณควรจะเลือกข้าง ถึงแม้ว่าคุณจะคิดต่างจากเราก็ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถโต้แย้งกันที่เหตุผลได้ คนเป็นกลางส่วนหนึ่งเขาจะคิดว่ามันไม่ใช่ธุระของเขา นั่นหมายความว่าคุณกำลังกินแรงเพื่อนชาวไทยด้วยกัน


คำว่า ‘เป็นกลาง’ อาจไม่ได้มองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของฉันก็ได้’ แต่อาจจะเป็นเพราะ ‘ไม่รู้จะยังไงดี’?

‘ไม่รู้จะยังไงดี’ คำนี้มีความหมายมาก คุณต้องเข้าใจสิว่าประเทศไทยตอนนี้เป็นยังไง อย่างที่ผมเคยมีมาตรการหยุดเรียนทั่วประเทศ ถามว่าทำไมต้องหยุด? ถ้าประเทศชาติกำลังมีปัญหาใหญ่ขนาดนี้ คุณยังมีหน้านั่งเรียนอยู่ได้อีกหรือ? คือเยาวชนมีสองหน้าที่คือ หนึ่งเป็นคนไทยที่ดี สองคือเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถามว่าถ้าหน้าที่ที่หนึ่งเสียไป หน้าที่ที่สองจะมีความหมายอะไร ถ้าหน้าที่แรกมันไม่มี ศักดิ์ศรี ความภูมิใจมันไม่มีเหลือแล้ว เพราะฉะนั้นคุณควรจะมีองค์ความรู้และเลือกได้แล้ว เปรียบเทียบง่ายๆ คือดูทั้งคนที่คิดต่างและคิดเหมือนกับเราในตอนนี้ว่ามันส่งผลให้ประเทศชาติเป็นยังไง ถ้าคุณคิดต่างกับพันธมิตรฯ แล้วคุณคิดว่ามันทำให้ประเทศชาติคุณดี คุณก็คิดต่างไปและก็มาโต้แย้งด้วยเหตุผล และอีก 20 ปีข้างหน้า ขอให้คุณหันกลับมามองในวันนี้ในสิ่งที่คุณทำไป แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคิดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า คุณมองกลับมาแล้วยังรู้สึกดีอยู่ คุณก็ทำต่อไป แต่ถ้าถึงตอนนั้นแล้วคุณเกิดนึกเสียดายว่าฉันได้ทำอะไรลงไป คุณก็ต้องเปลี่ยนแปลงมัน คือธรรมชาติคนเราจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ชอบอยู่กับที่ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเมืองใหม่ในบริบทนี้คนไทยทุกๆ คนควรจะมีส่วนร่วม เราต้องทำให้การเมืองใหม่เป็นแฟชั่นสำหรับเยาวชน เพราะการที่เรามาสู้อยู่อย่างนี้ เราไม่ได้มาสู้เพื่อคนแก่ เรามาสู้ให้คนของเรา ยุคของเรา ที่จะต้องอยู่ในสังคมนั้น ถ้าชีวิตในยุคของพวกเราจะต้องเป็นยุคน้ำเน่าเหมือนแบบนี้อีก แล้วจะมีใครที่เป็นเรี่ยวแรงในการต่อสู้


แล้วเพื่อนร่วมสถาบันที่ไม่ได้มาร่วมกับเรา เขามองอย่างไรกับสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้บ้าง?

เขาก็จะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องของเขา เขาไม่ได้บอยคอตนะ แต่เขายังไม่เข้าใจ คือเขาไม่ได้เป็นคนที่น่าโกรธหรือควรจะรังเกียจอะไร คนเหล่านี้เขาขาดอยู่อย่างเดียวคือ ‘โนว์ฮาว’ เพราะว่าสื่อกำลังรังแกเขามาก เขากำลังรังแกเด็กในยุคของเรา ทั้งฟรีทีวี และสื่อแมกกาซีนต่างๆ คือมันมีทั้ง Above The Line กับ Below The Line ที่คอยครอบงำเด็กๆ ตลอด คำว่า Above The Line คือพวกมีเดียต่างๆ ฟรีทีวี นิตยสาร สิ่งเหล่านี้รุมเร้าเด็กๆ มาตลอด ส่วน Below The Line ก็พวกคอนเสิร์ต งานแฟชั่นโชว์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากหลักเศรษฐศาสตร์คือสร้างความต้องการ โอเค ความอยากมันเกิดขึ้นได้ แต่มันจะต้องมาพร้อมกับองค์ความรู้ ถ้าปล่อยให้ความอยากมาอย่างโดดๆ เราจะกลายเป็นคนที่ถูกรุมเร้าให้มีความต้องการตลอด

เราจึงต้องมาช่วยกันสร้างให้สังคมมีองค์ความรู้ มันก็เป็นยุทธการสร้างแนวร่วมให้มากขึ้น อาจคิดเหมือนหรือคิดต่างมันไม่สำคัญ เราอาจดึงเอาความคิดที่เหมือนกันมาก่อนจากนั้นทำให้เป้าประสงค์ที่เรามองเหมือนกันให้มันใหญ่ขึ้น ถ้าเป้าหมายตรงกัน เราก็จะเคลื่อนไปด้วยกันได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศชาติให้ดีขึ้น

น่าจะเหนื่อย และยาก ที่ต้องทำงานเพื่อดึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น?

ยากหรือไม่ยาก ดูได้จากว่าทุกวันนี้ชีวิตของเด็กวัยรุ่นเขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง ผับ ร้านเกม ร้านเหล้า ห้างฯ ต่างๆ มันเคยมีแหล่งที่เด็กไปอย่างวัดหรือญาติผู้ใหญ่บ้างไหม มันก็ไม่ค่อยมีให้เห็น หลายๆ อย่างที่ทำให้เด็กเป็นแบบนี้คือ การที่เขาไม่มีองค์ความรู้

มันไม่เหมือนเด็กเกาหลี ญี่ปุ่นที่รักชาติมาก คือคนไทยขาดเรื่องของประวัติศาสตร์ เรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำมาตั้งแต่เกิด เราไม่มี ‘ประวัติศาสตร์แบบสำนึก’ เรามีแต่ ‘ประวัติศาสตร์แบบท่องจำ’ แบบว่าใครทำอะไร ที่ไหน ทำยังไง แต่พอถึงช่วงวิกฤตการณ์ของชาติปุ๊บ ความสำนึกของคนมันไม่มี เพราะมันไม่เกิด ถึงเด็กเกาหลี เด็กญี่ปุ่นจะมีแฟชั่นนั่นนี่ ที่เด็กบ้านเรารับเข้ามา แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่ชาติของเขาเริ่มมีปัญหา เขาก็จะออกมาเคลื่อนไหว ออกมาประท้วง เพราะเขามีความรักในชาติของเขามาก อย่างกรณีของนายกฯ ญี่ปุ่นที่ประกาศลาออก อันนี้มันเกิดขึ้นเพราะเขาโตมากับประวัติศาสตร์แบบสำนึก


การมาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ในสถานที่จริงแบบนี้ แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนมากแค่ไหน?

เรารู้สึกว่าอยู่ในห้องเรียนจะชอบโดนอาจารย์มาขายของให้บ่อยๆ เหมือนไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไร เราเองไม่ค่อยชอบเข้าห้องเรียน เกลียดที่สุดคือระบบการศึกษาของไทย เราคิดว่าการเรียนในห้องเรียนมันไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้น เราชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการเข้าวัดบ้าง พ่อแม่สอน ฟังเสวนาในด้านต่างๆ จากประสบการณ์ของผู้ที่รู้จริง และเอามาวิเคราะห์เองมากกว่า การเรียนหนังสือในห้องเรียนมันอาจให้อะไรบางส่วน แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด บางทีมันเป็นเหมือนการสร้างภาพว่าเราเข้าห้องเรียน แต่มันไม่ได้สร้างโนว์ฮาว เพราะแท้จริงแล้วองค์ความรู้มันต้องเกิดจากประสบการณ์ของอาจารย์ว่าอาจารย์เรียนรู้อะไรมา แล้วอาจารย์ทำอะไร แล้วอาจารย์จะสอนยังไง และใจของอาจารย์ควรจะมีจิตสาธารณะก่อน แล้วการสอนจะเป็นไปอย่างธรรมชาติ


ผู้ปกครอง อาจารย์คิดยังไงกับที่เรามาร่วมแบบนี้?

เขาก็เป็นห่วงความปลอดภัย ไม่ค่อยอยากให้เข้ามายุ่งกับตรงนี้เท่าไหร่ มีเพื่อนบางคนในกลุ่มมาเล่าให้ฟังว่าโดนอาจารย์ขู่ เราบอกเลยว่าเดี๋ยวจะฟ้องอาจารย์กลับ การที่มีนักเรียนไปตีกันตามงานคอนเสิร์ต ทำไมอาจารย์ไม่ไปห้าม แต่กลับการที่เขามาพันธมิตรฯ อาจารย์ดันห้าม แบบนี้อาจารย์ทำไม่ถูกต้อง


คิดยังไงที่มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของบางประเทศออกมาพูดว่า “นักเรียน นักศึกษาไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง”?

ก็เพราะเขาคิดได้แค่นั้น ประเทศไทยถึงเป็นอยู่ได้แค่นี้ เขาไม่ได้รังแกแค่ประชาชน แต่เขายังรังแกทั้งตัวเขาและครอบครัวเขาด้วย ในเมื่อเขาสร้างสังคมแบบนี้ และตัวเขาเองก็ยังอยู่ในสังคมแบบนี้ ความไม่เจริญก็จะยังวนเวียนอยู่แบบนี้


จุดยืนต่อจากนี้ไปจะเป็นยังไงต่อ?

ก็ยังยึดมั่นเหมือนเดิม เราไม่ได้มีเป้าประเด็นแค่คุณทักษิณหรือว่าคุณสมัคร ประเด็นของเราคือความถูกต้องและไม่ถูกต้อง ในเมื่อสังคมยังไม่มีความถูกต้องอยู่เราก็จะเคลื่อนไหวต่อไปด้วยคนที่เยอะขึ้นและใหญ่ขึ้น


มีอะไรอยากจะฝากถึงเพื่อนๆ มั้ย?

คำว่าความดีหรือจิตสาธารณะ แฟชั่นการเมือง เป็นแฟชั่นที่คุณเองก็เลือกได้ เยาวชนในกลุ่ม Young P.A.D. มีทั้งคนพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮิปฮอป อินดี้ พังก์ เกย์ ทอม เด็กสยามสแควร์ เมโทรเซ็กชวล มีทุกอย่างที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนวัยรุ่น คือไม่ว่าคุณจะเป็นแบบไหน ถ้าคุณได้เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง มันจะยิ่งทำให้คุณมีคุณค่ามากขึ้น กลายเป็นคนที่มีเสน่ห์มากขึ้นด้วย ดังนั้น ความถูกต้องเหล่านี้เราจะต้องช่วยกันปกป้องไว้ เพราะสังคมข้างหน้านั้นเป็นสังคมที่คนรุ่นเราจะต้องอยู่ต่อไป เราจึงต้องช่วยกัน ทุกคนสามารถเป็น Young P.A.D. ได้ เริ่มต้นด้วยการคิดถูกและทำถูก โดยมีธรรมะนำหน้า ‘ประวัติศาสตร์แบบสำนึก’ ก็จะเกิดขึ้นได้กับตัวคุณ

ไม่มีความคิดเห็น: