เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิดเรื่อง "การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย" ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ได้มีข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้มหาวิทยาลัยลดสัดส่วนการรับนักศึกษาด้วยวิธีการรับตรงลงเหลือร้อยละ 50 รวมถึงให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานการรับนักศึกษาโดยวิธีรับตรง เพื่อแก้ปัญหานักศึกษาวิ่งรอกสมัครและสละสิทธิที่นั่งภายหลังว่า ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปพิจารณารับหน้าที่การประสานงานการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนในประเทศอังกฤษที่มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่นี้ โดยให้นักเรียนยื่นคะแนนและแจ้งความจำนงว่าจะเรียนในมหาวิทยาลัยไหน คณะวิชาใดบ้าง จากนั้นหน่วยงานกลางจะส่งข้อมูลของเด็กไปให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนได้ให้หลักการทาง สกอ.ไปว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีเป้าหมายให้นักเรียนสะดวก ประหยัด เป็นธรรม และมหาวิทยาลัยสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้เต็มตามที่นั่งที่เปิดรับ
"การรับตรงถึงแม้ในนโยบายภาพรวมต้องการให้มีสัดส่วนการรับต่อการรับในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ เป็น 50:50 แต่ในข้อเท็จจริงรู้ดีว่า การจะให้ทุกมหาวิทยาลัยลดรับตรงเหลือร้อยละ 50 พอดี คงไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ รวมถึงมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ หากจะให้รับเด็กเข้าเรียนด้วยระบบแอดมิสชั่นส์ร้อยละ 50 ที่นั่งก็คงเหลือ จึงต้องดูความเหมาะสมและข้อเท็จจริงประกอบด้วย" นายชัยวุฒิกล่าว และว่า ตนเชื่อว่าสถานการณ์การรับตรงในปีการศึกษา 2553 นี้ คงจะสูงที่สุด แต่ในปี 2554 เป็นต้นไปจะเริ่มลดลง เพราะมีการปรับองค์ประกอบและค่าน้ำหนักของระบบแอดมิสชั่นส์ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องการแล้ว อีกทั้งขณะนี้ สกอ.ก็กำลังดูเรื่องการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานการรับตรงอยู่ด้วย
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตนได้หารือเรื่องดังกล่าวกับนายชัยวุฒิแล้ว จากนี้ สกอ.จะศึกษารายละเอียดและรวบรวมข้อมูล ว่าสามารถทำได้หรือไม่
ด้านนายช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า เมื่อให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการแล้ว ก็ควรปล่อยให้มีอิสระในเรื่องรับนักศึกษาด้วย ไม่ใช่มาจำกัดสัดส่วนการรับตรง ประกอบกับที่ผ่านมามีการรับผ่านระบบแอดมิสชั่นส์มาโดยตลอด แต่ก็ไม่อาจการันตีได้ว่านักศึกษาจะไม่ออกกลางคัน หรือถูกรีไทร์ ในขณะที่การคัดเลือกด้วยวิธีรับตรงทุกมหาวิทยาลัยต่างพยายามคัดเลือกเด็กที่มีคุณภาพมากที่สุดเข้ามาเรียน จึงอาจจะดีกว่าระบบแอดมิสชั่นส์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น